7s McKinsey กรอบแนวคิดการบริหารสู่ความสำเร็จ

การบริหารองค์กรให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จและเป็นองค์กรที่มีศักยภาพ นอกจากจะต้องมีเป้าหมายที่เด่นชัด เพื่อทำให้ทิศทางขององค์กรชัดแจ้งและส่งผลทำให้การปฏิบัติงานราบรื่นและรวดเร็วขึ้นแล้ว สิ่งที่จะขาดไม่ได้หรือถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการบริหารองค์กร ก็คือกรอบแนวคิดหรือกลยุทธ์การบริหาร ซึ่งมีอยู่มากมายในการเลือกใช้ 7s McKinsey หนึ่งในกลยุทธ์ที่ช่วยยกระดับองค์กรให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

7s McKinsey คืออะไร

7s McKinsey คือ กรอบแนวคิดที่ใช้วิเคราะห์ปัจจัยภายใน 7 ด้าน ว่าแต่ละด้านมีจุดอ่อนและจุดแข็งหรือไม่อย่างไร รวมถึงการวิเคราะห์ว่าปัจจัยแต่ละด้านมีความสัมพันธ์กับด้านอื่น ๆ หรือไม่ หากพบว่าปัจจัยแต่ละด้านไม่สอดคล้องกันและเป็นเรื่องที่สำคัญ ฝ่ายบริหารก็จะนำไปปรับปรุงเพื่อวางแนวทางในการพัฒนาองค์กรต่อไป

ประวัติ 7s McKinsey

ปัจจุบัน เครื่องมืออย่างหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์การบริหารองค์กรที่จะช่วยให้การบริหารองค์กรมีความเป็นเลิศมากยิ่งขึ้น ก็คือ 7s McKinsey ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดที่ได้มีการพัฒนาในต้นทศวรรษ 1980 โดย Tom Peter และ Robert Waterman เป็นสองที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญของบริษัท McKinsey & Company ทำให้กรอบแนวคิดหรือกลยุทธ์นี้มีชื่อว่า 7s McKinsey โดยถูกสร้างขึ้นด้วยแนวคิดที่มองว่าองค์กรที่ดีต้องเกิดจากความสัมพันธ์ของปัจจัยทั้ง 7 ประการ อันประกอบด้วย

  1. S1 โครงสร้างขององค์กร (Structure)
  2. S2 กลยุทธ์ขององค์กร (Strategy)
  3. S3 ระบบในการดำเนินงานขององค์กร (Systems)
  4. S4 แบบแผนในการบริหารงานของบุคคล (Style)
  5. S5 บุคลากรในองค์กร (Staff)
  6. S6 ทักษะความรู้ความสามารถขององค์กร (Skills)
  7. S7 ค่านิยมร่วมกัน (Shared Values)

หลักการ 7s McKinsey เป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ในการบริหาร และใช้วิเคราะห์ในส่วนของ

SWOT ในด้านของปัจจัยภายในว่ามีจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างไร โดยนำผลการวิเคราะห์มากำหนดกลยุทธ์เพื่อให้การบริหารเกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร ดังนี้

Structure (S1) หรือโครงสร้างขององค์กร

เป็นการพิจารณาลักษณะขององค์กรเกี่ยวกับความสัมพันธ์นระหว่างอำนาจหน้าที่ เช่น หลักการบริหารเป็นการรวมอำนาจหรือกระจายอำนาจให้แก่ฝ่ายบริหาร เพื่อนำข้อมูลที่ได้มากำหนดกลยุทธ์ให้เหมาะสม

Strategy (S2)หรือกลยุทธ์ขององค์กร

ได้แก่กิจกรรมหรือการดำเนินงานต่าง ๆ ภายในองค์กรที่ได้ถูกวางแผนขึ้นเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับโครงสร้างขององค์กรนั้น ๆ เป้าหมายของการจัดทำกลยุทธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้องค์กรมีความสามารถ ในการเอาชนะคู่แข่งหรือสร้างความได้เปรียบด้านการตลาดได้

Systems (S3) หรือระบบในการดำเนินงานขององค์กร

ได้แก่ ระบบหรือขั้นตอนการดำเนินงานภายในองค์กรทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถดำเนินงานไปได้ เช่น ระบบบัญชีและการเงิน การบริหารงานบุคคล การฝึกอบรม หรือระบบการติดต่อสื่อสาร ซึ่งระบบหรือขั้นตอนเหล่านี้จะบ่งบอกถึงวิธีการทำงานต่าง ๆ ขององค์กร

Style (S4) หรือแบบแผนในการบริหารงานของบุคลากร

หมายถึง รูปแบบการบริหารจัดการของผู้บริหาร และภาวะความเป็นผู้นำของผู้บริหารที่จะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของพนักงานในองค์กร

Staff (S5) หรือบุคลากรในองค์กร

ได้แก่ การคัดเลือกบุคลากร การจัดคนให้เหมาะกับงาน การพัฒนาบุคลากร การลงโทษ และผลตอบแทน

Skills (S6) หรือทักษะความรู้ความสามารถขององค์กร

หมายถึง ทักษะ ความโดดเด่น ความเชี่ยวชาญ ในการขาย การให้บริการ หรือการผลิต ความสามารถในการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นลักษณะเด่นขององค์กรที่สามารถทำได้ดีกว่าองค์กรอื่น

Shared Values (S7) หรือ ค่านิยมร่วมกัน

หมายถึงค่านิยมที่เป็นวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เขียนไว้เป็นทางการ แต่จะเป็นแนวคิดพื้นฐานของแต่ละองค์กร และยังเป็นสิ่งที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์กร

ตัวอย่าง 7s McKinsey

การพัฒนาองค์กรก็คือการทำให้องค์กรนั้นดีขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่าเดิม ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การปฏิบัติงาน ระบบโครงสร้างองค์กร ไปจนถึงทัศนคติในการทำงาน และ 7s McKinsey ก็คือการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาองค์กรให้มีศักยภาพการทำงานสูง ซึ่งตัวอย่างการนำไปใช้และมีผลงานการวิจัยรองรับ ได้แก่ งานวิจัยเรื่อง “ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาองค์กรให้มีศักยภาพการทำงานสูง : กรณีศึกษาธนาคารยูโอบี” (ปัณฑารีย์ ฟองแพร่,2559) ดังนี้

ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ แบงก์ (United Overseas Bank LTD : UOB ) เป็นธนาคาร

สัญชาติสิงคโปร์ที่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยากุ้ง พ.ศ. 2540 โดยมีกลุ่มธนาคารยูโอบีประเทศสิงคโปร์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดร้อยละ 99.66 ปัจจัยการประเมินองค์กร ซึ่งเป็นตัวแปรที่ใช้ในการชี้วัดศักยภาพขององค์กรธุรกิจเกิดจากความสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ 7 ประการ ที่มีผลต่อความสำเร็จในการพัฒนาองค์กร มีดังนี้

ปัจจัยการประเมินองค์กรที่มีผลต่อความสำเร็จในการพัฒนาองค์กร (7S Mckinsey )

  1. กลยุทธ์และยุทธศาสตร์ (Strategy)
  2. โครงสร้าง (Structure)
  3. ระบบ (System)
  4. รูปแบบการบริหาร (Style)
  5. บุคลากร (Staff)
  6. ทักษะ ความสามารถ (Skill)
  7. ค่านิยมร่วม (Shared values)..

ผลการพัฒนาองค์กรให้มีศักยภาพการทำงานสูงจากการวิเคราะห์ 7S Mckinsey

  1. เป็นองค์กรที่ใช้ความเชื่อใจ
  2. เป็นองค์กรที่มุ่งผลิตองค์ความรู้
  3. เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญต่อภายนอก
  4. เป็นองค์กรที่มีโครงสร้างและกระบวนการทางานที่สอดคล้องกันสามารถเข้าใจและปฏิบัติได้
  5. เป็นองค์กรที่มีการกำหนดวิสัยทัศน์ที่มองเห็นภาพได้
  6. เป็นองค์กรที่มีผู้นำที่ดี
  7. เป็นองค์กรที่ทำงานเป็นทีม
  8. เป็นองค์กรที่สามารถจูงใจเพื่อให้ทุกคนให้ความสำคัญและปฏิบัติตามกลยุทธ์ได้

สรุป

องค์กรที่มีศักยภาพ คือองค์กรที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ 7s McKinsey คือ กรแนวคิดการบริหารสู่ความสำเร็จที่เอื้อต่อการเป็นองค์กรนวัตกรรม และยังเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับองค์กรในการนำมาใช้ในการแข่งขันเพื่อให้การดำเนินกิจการต่าง ๆ สามารถสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งใหม่ๆ หรือวิธีการใหม่ ๆ ที่จะช่วยเสริมศักยภาพขององค์กรให้ประสบความสำเร็จได้ตามแผนงานที่วางไว้